วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เมาไม่ขับ

อุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่ง ของการเสียชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในวัยหนุ่มสาว จากการคาดการณ์ หากไม่มีมาตรการรองรับแล้ว ในปีหน้า (พ.ศ. 2545) ตัวเลขผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุบนท้องถนน จะพุ่งขึ้นสูงถึงกว่า 3 คนต่อชั่วโมง (มากกว่า 2.6 หมื่นคนต่อปี) และเป็นที่น่าเศร้าว่า สาเหตุส่วนใหญ่ กว่าครึ่งหนึ่ง เกิดจากผู้ขับขี่ที่มีอาการเมาสุรา จากการทดลอง หาความสัมพันธ์ระหว่างระดับแอลกอฮอลในเลือด กับโอกาสเกิดอุบัติเหตุพบว่า ผู้ที่มีแอลกอฮอลในเลือดสูงกว่า 50 มิลลิกรัม% จะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ สูงกว่าผู้ไม่ดื่มสุราถึง 2 เท่า และหากสูงถึง 100 มิลลิกรัม% โอกาสเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 6 เท่า โครงการรณรงค์ “เมาไม่ขับ” จึงเกิดขึ้นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ บนท้องถนน อันเนื่องมาจาก ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะในขณะที่มึนเมา หนึ่งในมาตรการตามโครงการนี้คือ การตั้งด่านตรวจระดับ แอลกอฮอลในเลือดของผู้ขับขี่ เพื่อให้ทราบว่าผู้ขับขี่ อยู่ในสภาพที่จะสามารถ ขับขี่ยวดยานพาหนะต่อไปได้อีกหรือไม่
การตรวจระดับแอลกอฮอล ในเลือดมีหลายวิธี ได้แก่ การตรวจวัดทางลมหายใจ ตรวจวัดจากเลือด หรือจากปัสสาวะ ในทั้ง 3 วิธีนี้ วิธีการตรวจวัดทางลมหายใจ เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากทำได้สะดวกรวดเร็ว และสามารถ ทราบผลได้ทันที การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล จากลมหายใจ อาศัยหลักที่ว่า เมื่อกระแสเลือด ไหลไปที่ปอด เพื่อฟอกเอาแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ออกจากร่างกาย แอลกอฮอลในกระแสเลือดบางส่วน จะซึมผ่านเข้าไปในปอดด้วย ระดับของแอลกอฮอลในปอด จะสัมพันธ์โดยตรงกับระดับแอลกอฮอลในเลือด เมื่อหายใจออก แอลกอฮอล จะถูกขับออกมาจากปอดเช่นเดียวกัน การวัดปริมาณแอลกอฮอลในลมหายใจ ทำได้หลายวิธี ได้แก่
วิธีเคมี วิธีนี้จะวัดโดยให้แอลกอฮอล รีดิวซ์โพแทสเซียมไดโครเมต (K2CrO7) ซึ่งมีสีแดงส้ม ในสภาวะที่มีกรดกำมะถันอยู่ด้วย ให้กลายเป็นโครเมียมซัลเฟต (Cr2(SO4)3) ซึ่งมีสีเขียว ความเข้มของสีที่เปลี่ยนไป จะสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณ แอลกอฮอล ในลมหายใจของผู้ถูกตรวจวัด ปริมาณแอลกอฮอลสูงขึ้น จะยิ่งทำให้สีเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มขึ้น
วิธีวัดการดูดกลืนรังสี วิธีนี้จะวัดโดยวัดการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด ของแอลกอฮอลซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งทำให้ปริมาณรังสีอินฟราเรด ที่ผ่านไป มีความเข้มของรังสีลดลง ยิ่งมีปริมาณแอลกอฮอลในลมหายใจมาก การดูดกลืนรังสีจะยิ่งมากขึ้น เป็นสัดส่วนตามกัน เมื่อวัดความเข้มรังสีที่เปลี่ยนไป ก็จะทำให้ทราบว่า มีปริมาณแอลกอฮอลอยู่ในลมหายใจเท่าใด
วิธีเคมีไฟฟ้า วิธีนี้จะวัดปริมาณแอลกอฮอล โดยการให้แอลกอฮอลเกิดปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า เครื่องตรวจวัด ประกอบด้วย แผ่นพลาตินัมบางๆ 2 แผ่นขนานกัน และมีอิเลกโตรไลต์กรดอยู่ระหว่างกลาง แอลกอฮอลจะถูกดูดซับ อยู่บนแผ่นพลาตินัม และถูกออกซิไดซ์เป็นกรดอะซิติก (acetic acid) และให้อิเลกตรอนออกมา อิเลกตรอน ที่เกิดขึ้นจะไหลผ่านแผ่นพลาตินัม ผ่านไปยังเครื่องวัดกระแสไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป จะเป็นสัดส่วนโดยตรง กับปริมาณแอลกอฮอลในลมหายใจ
สุดท้ายนี้อยากฝากถึงผู้ขับขี่ทุกท่าน ให้พึงระลึกอยู่เสมอว่า อุบัติเหตุที่เกิดความประมาท ขาดสติ ของคนเพียงคนเดียว อาจทำให้เกิดความสูญเสีย อย่างมหาศาล กับคนอีกเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้พวกเราทุกคน พร้อมใจกันปฏิบัติ ตามกฎจราจรโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัย ของพวกเราทุกคนที่อยู่บนท้องถนนนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น